เครื่องวัดพีเอช (pH Meter)
งานบางชนิดต้องการความถูกต้องของค่าพีเอชถึง ±0.001 หน่วย แต่การวัดพีเอชโดยใช้สารเปลี่ยนสี จะมีความผิดพลาดจากการเทียบสี และสีผิดเพี้ยนจากสีที่เจือปนจากสารละลายที่วัดพีเอช ทำให้มีความผิดพลาดในการอ่านค่าตั้งแต่ 1.5-2.0 หน่วย จึงไม่เหมาะสมกับงานที่ต้องการความถูกต้องของพีเอชสูง ดังนั้นการวัดค่าพีเอชที่ถูกต้อง จึงต้องอาศัยเครื่องวัดพีเอชซึ่งมีความผิดพลาดน้อยกว่า เพราะพีเอชมีค่าเท่ากับลบล็อกของความเข้มข้นของไฮโดรเจนไอออน การเปลี่ยนแปลงค่าพีเอช 1 หน่วย จึงเท่ากับการเปลี่ยนแปลงของไฮโดรเจนไอออนถึง 10 หน่วย นอกจากนี้ระบบการอ่านค่าของเครื่องวัดพีเอช ยังสามารถปรับให้อ่านได้ละเอียดถึง 0.001 หน่วย หลักการวัดพีเอช เครื่องวัดพีเอช อาศัยหลักการวัดความต่างศักย์ไฟฟ้า ที่เกิดขึ้นระหว่างเล็กโทรดวัด ซึ่งจุ่มอยู่ในสารละลาย แล้วเปลี่ยนค่าความต่างศักย์ไฟฟ้าให้เป็นค่าพีเอชโดยการเทียบค่ากับบัฟเฟอร์มาตรฐาน การคำนวณค่าพีเอชดัดแปลงมาจากสมการของเนินสต์ ซึ่งหาค่าแรงเคลื่อนไฟฟ้าของเซลล์ไฟฟ้าใด ๆ โดยการวัดเทียบกับไฮโดรเจนอิเล็กโทรด ซึ่งกำหนดให้มีแรงเคลื่อนไฟฟ้าเท่ากับ 0.0000 โวลต์ ที่ 25 ℃ ในทางปฏิบัติไม่นิยมใช้ไฮโดรเจนอิเล็กโทรดเป็นอิเล็กโทรดอ้างอิง สำหรับการหาค่าพีเอช เพราะไฮโดรเจนอิเล็กโทรดมีขนาดใหญ่ไม่สะดวกต่อการใช้งาน ดังนั้น National Bureau of Standard (NBS) จึงกำหนดค่าพีเอชของบัฟเฟอร์มาตรฐานขึ้นมาใช้ โดยการวัดค่าพีเอชของบัฟเฟอร์มาตรฐานด้วยอิเล็กโทรดวัดชนิด Ag/AgCl เปรียบเทียบกับไฮโดรเจนอิเล็กโทรดเมื่อไม่ใช้รอยต่อระหว่างของเหลว […]